ประวัติความเป็นมา

เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวิทยาลัยขึ้นในบริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานนามว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย”  มีพันธกิจด้านการผลิตบัณฑิต งานวิจัย งานบริการ วิชาการแก่ชุมชน และงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ในฐานะที่ทรงเป็นนายกกรรมการ      มหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยพระเถระนุเถระ จึงได้ทรงประกาศตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น โดยอาศัยนามว่า สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราเป็นพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ยกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีฐานะเป็นนิติบุคคล

ต่อมามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ประกาศข้อกำหนดมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยว่าด้วยการจัดตั้งส่วนงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อจัดระเบียบการบริหารงานให้ชัดเจนและเหมาะสม  และจัดตั้งศูนย์บริการวิชาการ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้แบ่งส่วนงานในศูนย์บริการวิชาการ ดังนี้

๑. ฝ่ายบริหารทั่วไป
๒. ฝ่ายห้องสมุด
๓. ฝ่ายฝึกอบรมและพัฒนา

ต่อมามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ย้ายที่ทำการมาตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๒๔๘ หมู่ที่ ๑ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ๗๓๑๗๐๐ ศูนย์บริการวิชาการจึงตั้งอยู่ชั้นที่ ๒ อาคารสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (B7.3) และดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน